ซิ่นน่าน

fashion : costume Nan น่านนคร นครแห่งหลากเรื่อง ร้อยลายในผ้าน่าน

“น่าน” เมืองที่โอบล้อมไว้ด้วยขุนเขาผีปันน้ำและขุนเขาหลวงพระบางเป็นอู่อรยธรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น นอกจากเรื่องราวที่มีรองลอยการบันทึกทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของเมืองน่านแล้ว ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกว่าน่านเคยเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุเก่าแก่ต่อเนื่องไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานการขุดค้นพบเครื่องมือหิน จัดว่าเป็นเครื่องมือหินเก่า ที่มีอายุไปไกลถึงราว ๑๐,๐๐๐ – ๑ ล้านปี

เมืองน่านในอดีต…ยังเป็นศูนย์กลางการค้าขาย เพราะมีทรัพยากรที่สำคัญคือ “เกลือ”  ด้านขนบธรรมเนียม วิธีชีวิตของชาวน่านได้สะท้อนให้เห็นการผสมผสานทั้งกรุงสุโขทัย ล้านนาล้านช้าง(หลวงพระบาง)สิบสองปันนาพุกามอย่างกลมกลืนจนตกตะกอนออกมาเป็นรูปแบบสกุลช่างน่าน  จากสภาพแวดล้อมภูมิวัฒนธรรมของเมืองน่านทำให้มีหลายชาติพันธุ์เข้ามาอาศัยหลายกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนปะทะสังสรรค์ผสมผสานและสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งวิถีพัฒนาการต่อกันตลอดเวลา จนหลายพื้นที่กลายเป็นพหุวัฒนธรรมของผู้คนน่าน กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน มีทั้งชนชาติไท ชาวไทยภูเขา  ที่อาศัยอยู่เดิมและได้อพยพมาจากล้านช้าง สิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่ว่าจะเป็น ไทยวนหรือไทยโยนก ไทลื้อ ถิ่น (ลัวะ), ขมุ ม้ง(แม้ว) เย้า(เมี่ยน) และมลาบรี (ชาวตองเหลือง)  กลุ่มชนหลายชาติพันธุ์ ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดน่าน มีอยู่หลายท้องถิ่น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ของตนเองตามกลุ่มชาติพันธุ์ มีทั้งผ้าทอที่ทอขึ้นโดยชาวเมืองดั้งเดิมและผ้าทอที่มีมาจากแหล่งอื่น เพราะจังหวัดน่านเป็นแหล่งรวมกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย  ลวดลายผ้าทอเมืองน่าน เป็นเรื่องราวของความสวยงาม ที่เล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี ซึ่งเราจะพาไปสัมผัส ได้เห็นถึงฝีมือทอ ลวดลายสวยๆ การทอผ้า ถือว่าเป็นคุณสมบัติเด่นของผู้หญิงสมัยก่อน ซึ่งการแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มผ้าทอก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นการบ่งบอกประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น วิถีชีวิตของจังหวัดน่านผ่านลายบนผืนผ้า ผ้าทอพื้นเมือง ของจังหวัดน่าน ที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวไทยวน ไทลื้อและไทลาว ที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นร้อยปี “เส้นสายลายทอ ผ้าทอเมือ’น่าน” เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว

ผ้าซิ่นเมืองน่าน เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน เป็นผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่สืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้ามาจากชาวไทยลื้อโบราณ ซึ่งปัจจุบันมีชาวไทยลื้ออาศัยอยู่เกือบทุกอำเภอของจังหวัดน่าน ลักษณะเด่นของผ้าซิ่นเมืองน่านจะเน้นความสำคัญของการออกแบบลวดลายส่วนกลางผืนที่เลียนแบบธรรมชาติและลายเรขาคณิต การทอมี ๓ ลักษณะ คือ

๑. การล้วง เช่น ลายน้ำไหล ลายใบมีด ลายดอกไม้ ลายธาตุ ลายปู เป็นต้น
๒. การเก็บมุก เช่น ลายดอกจันทร์แปดกลีบ ลายดอกแก้ว ลายผักกูด ลายพญานาค ลายขอน้อย ลายกาบกลวง
๓. การคาดก่าน ได้แก่ ลายก่านแบบดั้งเดิม ลายคาดก่านน้ำไหล

ผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมของน่าน ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า ถุงย่าม ผ้าห่ม(ผ้าสาแสง หรือผ้าตาโก้ง) ผ้าลายคาดก่านแบบน่าน  ผ้าที่มาจากแหล่งอื่น เช่น ผ้าตีนจกจากเมืองพิชัย  ซิ่นม่าน  ซิ่น เชียงแสนจากเชียงตุง ผ้าลายลื้อจากเมืองเงิน เมืองคง เมืองฮุนเมืองล้า และสิบสองปันนา ผ้าไหมซิ่นลาว จากเมืองหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ซิ่นก่านคอควายและซิ่นตามะนาวจากแพร่ซิ่นลายขวางจากเมือง เชียงใหม่ เป็นต้น

ผ้าทอของจังหวัดน่านสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานออกเป็น ๒ ประเภท

๑. ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ผ้าปูที่นอน(ผ้าหลบ) ผ้าห่ม ผ้าฮำ ผ้ากั้ง หมอนมุ้ง ผ้าซิ่น ผ้าสะหว้ายแล่ง และผ้าสะว่านอก
๒. ผ้าที่ใช้ในทางศาสนา ได้แก่ ตุง ผ้าปาด(ลักษณะคล้ายตุงแต่สั้นกว่า) จีวร ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าเช็ดน้อย เพื่อเป็นพุทธบูชา

ผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน ผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน คือ  fashion ซิ่นเมืองน่านที่โดดเด่น

“ซิ่นม่าน” เป็นซิ่นที่มีช่วงขนาดของลวดลายไม่เท่ากัน แต่ละช่วงจะมีชื่อเรียกและขนาดของลายไม่เท่าแต่ละช่วงจะมีชื่อเรียกและขนาดของช่วงที่แน่นอนซิ่นป้อง  มีช่วงขนาดของลายที่เท่ากันและเป็นผ้าซิ่นที่คล้ายคลึงมากกับซิ่นของไทยวนคณะกรรมการเอกลักษณ์น่าน(๒๕๔๙) ได้อธิบายรายละเอียดโครงสร้างและส่วนประกอบของผ้าซิ่นเมืองน่านไว้ดังนี้ซิ่นม่าน เป็นซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเมืองน่าน ลักษณะเป็นซิ่นลายขวางเย็บ ๒ ตะเข็บ ทอด้วยฝ้ายปนไหมและนิยมทอลายมุก (ขิด) ด้วยเส้นใยโลหะ (ไหมเงิน ไหมคำ)  การจัดองค์ประกอบของลายขวางที่เป็นลายมุกสลับกับสีพื้นมีการจัดช่วงระยะไม่เสมอกัน แต่มีโครงสร้างที่แน่นอน โดยตัวซิ่นทอต่อเนื่องกับตีนซิ่นเย็บต่อหัวซิ่นด้วยผ้าพื้นสีแดง ส่วนตัวซิ่นนั้นอาจแบ่งองค์ประกอบเป็น ๖ ช่วง จากบนถึงล่าง ได้แก่

๑. หัวซิ่น เป็นผ้าสีพื้น นิยมใช้เส้นพุ่งไหมสีแดงหรือสีบานเย็นคั่นด้วยลายมุก (ขิด) ที่เรียกว่า “ตาหมู่หัว”
๒. ท้องซิ่น เป็นผ้าพื้นสีเข้มขนาดกว้างกว่าช่วงอื่น ใช้เส้นพุ่งฝ้ายนิยมสีดำน้ำตาล หรือคราม คั่นด้วยลายมุก (ขิด) ที่เรียกว่า “ตาหมู่ท้อง”
๓. ตาหับบน เป็นผ้าพื้นใช้เส้นพุงไหม นิยมสีบานเย็นเรียกกันว่า “จั้ดออน” (สีออน = บานเย็น) อาจใช้สีอื่น เช่น เขียวหรือชมพูก็ได้คั่นด้วยตามหมู่ลายมุก (ขิด)   อีก ๑ แถว
๔. ตาหับบน เป็นผ้าพื้นใช้เส้นพุ่งไหม นิยมสีม่วงเข้มหรือสีครามเข้มเรียกกันว่า “จั้ดแหล้” (แหล้ = สีเข้ม  เช่น สีดำคราม)
๕. ตาหมู่ เป็นลายมุก (ขิด) กลุ่มใหญ่ ๓ แถว หรือ ๔ แถว นิยมทอด้วยเส้นโลหะ (ไหมเงิน ไหมคำ) หรือใช้ไหมสีสด เช่น สีม่วง เหลือง แดง ลายที่นิยมคือ ลายมุกก้นถ้วย หรือมุกดอกแก้ว
๖. ตีนซิ่น ที่เป็นมาตรฐานจะประกอบด้วย ป้าน ตีน  เล็บ คือส่วนประกอบ ๓ แถวของตีนซิ่นที่ทอต่อเนื่องจากตาหมู่กลุ่มใหญ่ เป็นส่วนของผ้าพื้น ๓ สี ใช้เส้นพุ่งฝ้ายให้มีสีตัดกัน เช่น แดง ดำ แดงหรือม่วง น้ำตาลเข้ม ม่วง เป็นต้น

ซิ่นป้อง เป็นซิ่นลายขวางเย็บ ๒ ตะเข็บ ลายขวางทอด้วยเทคนิคขิด (ซึ่งในเมืองน่านเรียกว่าเทคนิคเก็บมุก ยกมุก หรือ เก็บดอก) มีทั้งที่ทอด้วยฝ้ายไหม ไหมปนฝ้าย และไหมเงินไหมคำ โครงสร้างของซิ่นป้องในอดีตอาจแบ่งออกได้เป็น ๔ แบบใหญ่ ได้แก่๑. ซิ่นป้องตาเหล้ม (ออกเสียงว่า ต๋า – เล่ม) หรือซิ่นป้องตาโทน (ออกเสียงว่า ต๋า – โตน) เป็นซิ่นที่มีลายขวางขนาดเท่ากัน สลับสีพื้นโดยเว้นช่วงระยะเท่ากันตลอดผืน ลายขวาง (หรือตา) ที่เป็นมาตรฐานจะประกอบด้วยลายทาง ๕ แถว มีลายใหญ่ หรือลายหลักอยู่ตรงกลางและมีลายริ้วอีก ๔ แถวประกอบ ๒ ข้างดูรวมๆ แล้วก็จะเป็นลายใหญ่แถวเดียว มีลายแถวสุดท้ายก่อนถึงตีนซิ่นที่มักจัดองค์ประกอบต่างจากลายอื่นๆ (คำว่า เหล้มหรือโทน บ่งบอกว่าเป็นตาเดี่ยวหรือแถวเดียว ไม่มีลายอื่นมาสลับอีก) ส่วนตีนซิ่นทอต่อเนื่อง เป็นผ้าพื้น ๓ ช่วงเรียกว่า ป้าน ตีน และเล็บเหมือนกับซิ่นม่าน

ซิ่นป้องตาคีบ (ออกเสียงว่า ต๋า – กิ้บ) หรือ ซิ่นป้องตาผ่า (ออกเสียงว่า ต๋า – ผ่า) เป็นซิ่นที่มีลายขวางแถบเล็ก คั่นสลับกับลายขวางแถบใหญ่ลายขวางแถบเล็กนี้เองที่ชาวบ้านผู้ทออธิบายว่าเหมือนกับ “คีบ” หรือขนาบ ๒ ข้างของลายแถบใหญ่หรือเหมือนกับเป็นลายที่แทรก “ผ่า” กลางเข้ามาระหว่างลายใหญ่อีกที่หนึ่งกับการทอสลับลายหรือ ตาเล็กสลับตาใหญ่นี้จะได้ช่วงจังหวะเท่าๆ กันตลอดผืน ส่วนตีนซิ่นป้องตาคีบ ประกอบด้วย ป้าน ตีน และเล็บ

ซิ่นป้องเคิบไหมคำ ซิ่นชนิดนี้อาจเรียกชื่อตามวัสดุที่ทอว่า ซิ่นไหมคำ หรือ ซิ่นคำเคิบ หรือซิ่นเคิบก็ได้ เป็นซิ่นที่การจัดระยะของลายขวางเท่าๆ กันตลอดผืนแบบเดียวกับซิ่นป้องตา เหล้ม เพียงแต่นิยมทอด้วยเส้นโลหะหรือวัสดุที่ให้ความแวววาว ที่เรียกกันว่า “ไหมเงิน ไหมคำ” คำว่า“เคิบ” อาจมาจากคำว่า “เคลือบ” ตามการออกเสียงของชาวไทลื้อ ทั้งนี้วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เท่าที่พบเป็นฝ้ายปั่นกับกระดาษเคลือบสีเงินหรือสีทอง ที่เป็นเส้นโลหะกะไหล่เงิน หรือกะไหล่ทอง พบน้อยเนื่องจากเป็นวัสดุนำเข้ามีราคาแพง จึงมักพบเฉพาะในผ้าซิ่นของเจ้านายหรือชนชั้นสูงในเมือง ส่วนวัสดุกระดาษเคลือบเงินหรือทองนั้นไม่ค่อยทนทานเมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะหลุดเหลือเพียงเส้นใยฝ้าย แต่ยังคงมีเศษสีเงินเหลืออยู่บ้างเป็นหลักฐาน วัสดุสีเงินสีทองที่ใช้ในยุคหลังมักเป็นใยสังเคราะห์หรือพลาสติกซิ่นป้องเคิบไหมคำนี้ พื้นผ้านิยมทอด้วยไหมสีม่วง ตรงส่วนเชิงของลายขวางก่อนจะถึงตีนซิ่นจะมีลายเป็นเส้นๆ เรียก “สายย้อย” ทอต่อเนื่องด้วยตีนไหมสีม่วง (ในยุคหลังพบว่าทอด้วยฝ้าย บางผืนในตัวซิ่นมีการทอล้วงลายน้ำไหลสลับลายมุกด้วย)

ซิ่นก่าน คือซิ่นที่เด่นด้วยเทคนิคลายมัดก่านหรือมัดหมี่เส้นพุ่ง เป็นซิ่นลายขวางเย็บ ๒ ตะเข็บ พบในวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ แถบอำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกลาง และอำเภอปัว มีทั้งมัดก่านฝ้ายและมัดก่านไหม สีที่นิยม คือ สีม่วงคราม บานเย็น เขียว ลายมัดก่านเป็นลายเรขาคณิตเลียนแบบลายมุก เช่นลายดอกจัน ดอกแก้ว ลายกาบ ลายขอ ซิ่นมัดก่านฝ้ายล้วนพบในแถบอำเภอท่าวังผาซิ่นมัดก่านไหมเส้นยืนเป็นฝ้าย และซิ่นมัดก่านไหมเส้นยืนเป็นไหมพบในอำเภอปัว และอำเภอเชียงกลาง ซิ่นก่านนี้เรียกชื่อว่า ซิ่นมัดก่าน ซิ่นคาดก่านหรือซิ่นคาด ก็มีโครงสร้างของซิ่นก่านอาจแบ่งย่อยได้ ๓ ประเภท ดังต่อไปนี้ซิ่นป้องก่าน คือ ซิ่นก่านที่ทอในโครงสร้างของซิ่นป้องตาเหล้ม มีลายขวางมัดก่านสลับลายมุกเท่าๆ กันตลอดตัวซิ่น ตีนซิ่นเป็นสีพื้นทอต่อเนื่องตามแบบมาตรฐานซิ่นป้อง คือมี ป้าน ตีน เล็บ หรืออาจเป็นตีนซิ่นสีเดียวก็ได้ ซิ่นป้องก่านบางผืนมีลักษณะพิเศษ คือไม่มีลายมุกสลับ ใช้ผ้าสีพื้นสลับลายมัดก่านหรือใช้ลายมัดก่านล้วน แต่สลับสี เช่น สลับสีม่วงกับบานเย็นทำให้เห็นเป็นลายขวางอยู่

“ซิ่นม่านก่าน” คือ ซิ่นก่านที่ทอในโครงสร้างของซิ่นม่านการจัดลายขวางมัดก่านสลับสีพื้นและลายมุก ซิ่นบางผืนมีทั้งลายมุกสลับลายมัดก่านและสีพื้น แต่บางผืนเป็นซิ่นลายมัดก่านสลับสีพื้นเท่านั้น ซึ่งแต่ละผืนแม้จะมีรายละเอียดของการทอตกแต่งที่แตกต่างกัน แต่ยังคงเห็นโครงสร้างของความเป็นซิ่นม่านชัดเจนโดยดูได้จากการจัดสีและกลุ่มลายขวางซิ่นก่านล้วน คือ ซิ่นที่เป็นลายมัดก่านทั้งผืนโดยไม่ได้จัดโครงสร้างเป็นลายขวางตามแบบซิ่นป้องหรือซิ่นม่านแต่อย่างใด ซิ่นประเภทนี้พบในกลุ่มไทลื้อแถบอำเภอปัว แต่พบไม่มากนักเป็นมัดก่านไหม นิยมสีม่วง(คณะกรรมการเอกลักษณ์น่าน,๒๕๔๙:๒๐๓-๒๐๖

นอกเหนือจากนี้ ลักษณะเฉพาะของลวดลายผ้าของน่านที่ยังเป็นลักษณะเฉพาะอีกหลายมิติ กรณีผ้าทอลายน้ำไหล ซึ่งเป็นการทอด้วยเทคนิคแบบล้วง โดยใช้ฝ้ายสีต่างๆ สอดขึ้นสอดลงให้ไหลไปในทางเดียวกัน ไล่ระดับไปเรี่อย ๆ  ดูคล้ายการไหล ของสายน้ำ ผ้าลายน้ำไหลเป็นลายที่ทอกันในยุคหลังประมาณ ๘๐-๑๐๐ปี โดยพัฒนามาจากลายผ้าของชาวลื้อ ปัจจุบันมีการพัฒนาลายน้ำ ไหลเป็นรูปแบบ ต่าง ๆ  เช่น ลายจรวด ลายน้ำไหลสายรุ้ง ปัจจุบันจังหวัดน่านยังคงทอลายนี้อยู่ เป็นผ้าลายพื้นเมืองของจังหวัดน่าน ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำ ความเป็นศิลปินในถิ่นน้ำไหลผ่านของชาวล้านนา สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของชาวน่านที่ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติสวยงาม อยู่ท่ามกลางขุนเขาและสายน้ำ ลายน้ำไหลจะมีลักษณะเป็นคลื่นเหมือนขั้นบันไดมองดูคล้ายกับสายน้ำกำลังไหลเป็นทางยาว

ซึ่งทอลายน้ำไหลนี้จะทอด้วยวิธีที่เรียกว่า การเกาะ ห รือ ล้วง คือ ใช้มือจับเส้นด้ายต่างสี สอดหรือล้วงให้เกิดลาย เป็นการทอด้วยเทคนิคที่พบเฉพาะในการทอผ้าที่เมืองน่านเท่านั้น

“กรณีผ้าลายตาโก้ง” เป็นลายผ้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นคนน่าน ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย  ซึ่งผ้าลายตาโก้งจะมี ๓ สี คือ สีดำ แดง และ ขาว เป็นผ้าทอที่ไว้สำหรับทำผ้าห่ม  การทำผ้าตุ้มลายตาโก้งบ้านนาซาว เป็นวิถีของการพึ่งพาตนเองในสังคมเกษตรกรรมที่จะต้องผลิตสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิต ในอดีต บ้านนาซาวมีการปลูกฝ้ายในพื้นที่ดอน หรือพื้นที่แล้งน้ำ และเก็บฝ้ายในช่วงฤดูหนาวก่อนจะ นำไปปั่นและ   ทำเส้นด้าย การย้อมสี และการเตรียมเส้นฝ้ายเพื่อการทอ  โดยทั่วไป เมื่อว่างเว้นจากงานเกษตรกรรม สตรีในชุมชนบ้านนาซาวจะทอผ้าสำหรับใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในครัวเรือน ผ้าทอลายตาโก้งที่ทอโดยหญิงสาว เป็นการแสดงถึงความพร้อมในการ “ออกเรือน” หรือออกไปแต่งงานเพื่อไปสร้างครอบครัวใหม่ ผ้าห่มตาโก้งเป็นงานหัตถกรรมที่เป็นแรงงานของความรัก จากแม่สู่ลูกและคนในครอบครัว และจากหญิงสาวถึงชายหนุ่ม

2.ผ้าทอลายลื้อ เป็นการทอด้วยเทคนิคการคล้ายหรือการเกาะ  โดยจะทอลวดลายรูปทรงเรขาคณิต ได้แก่ ลายเส้นตรง ลายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลายสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน

3.ผ้ามัดก่าน เป็นผ้าที่เหมือนกับการมัดหมี่ในภาคอีสานที่บ้านดอนไชย อำเภอท่าวังผา

4.ผ้าปักชาวเขา เป็นผ้าที่ปักด้วยมือของชาวไทยภูเขาเผ่าเย้า(เมี่ยน) และม้ง ซึ่งสาวเย้าและม้ง มีฝีมือ ในการปักผ้าที่ลือชื่อ ส่วนใหญ่เป็นรูปลายเรขาคณิต ที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาบ้านป่ากลาง อำเภอปัว บ้านสองแคว อำเภอเมืองน่าน

ผ้าทอพื้นเมืองน่านมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ต่อไป แม้ปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์และการนิยมใส่ผ้าชิ่นมากขึ้นแต่ปัจจุบันช่างที่ทอผ้าก็มีจำหน่วยน้อยอยู่ดี และโดยกระแสวัฒนธรรมตะวันตก ผู้คนยุคใหม่โดยเฉพาะคนหนุ่มชาวก็ไม่นิยมจะสวมใส่ผ้าพื้นเมืองก็เริ่มมีจำนวนลดน้อยลง ถ้าไม่ช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริม ต่อไปในอนาคตเราอาจจะไม่เห็นผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดน่านที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญาอันดีงามนี้ต่อไปปัจจุบันความพยายามของคนเมืองน่านดังกรณี นโยบายการอนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองของจังหวัดน่านที่ว่า “จังหวัดน่านมีนโยบายในการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด ด้วยการรณรงค์การแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองน่านทุกวันศุกร์ โดยผู้หญิงให้นุ่งผ้าซิ่น และผู้ชายให้สวมกางเกงสะดอ หรือชุดประจำชนเผ่า” ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีในการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายที่ดีงามต่อไป ความยากของคนน่าน คือ การที่จะนำวัฒนธรรมคุณค่าของภูมิปัญญาของบรรพชนนี้ยังคงอยู่และก้าวไปพร้อมๆกับโลกสมัยไปได้อย่างไร  การออกแบบที่มี “วัฒนธรรม” เป็นตัวตั้งนั้นเป็นเรื่องยาก! ด้วยว่าเป็นการออกแบบที่ถูก “ปิดล้อม” อยู่ภายใต้เอกลักษณ์สำคัญประจำถิ่น อันจะต้องครอบคลุมถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ฯลฯ ของมนุษย์ทุกคนราวกับเป็นเงาตามตัว การจะขยับออกนอกเส้นวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องยากเย็น ที่สุดในการหาสมดุล  ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับเชื่อมั่นว่า “วัฒนธรรม” และ “การออกแบบ” เป็นสองสิ่งที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพียงแต่ต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ให้ตรงกันเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมคนน่านนั้น เรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ฝังรากลึกจนกลายเป็น “จุดแข็ง” และ “ต้นทุน” ที่สำคัญในการพัฒนาเมืองน่าน (เมื่อวิเคราะห์ในเชิงความหลากหลายของวัฒนธรรม, ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์, ประวัติศาสตร์ที่แสนยาวนาน, ความละเอียดอ่อนในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากทั่วไป ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น) ซึ่งหากคนในจังหวัดน่านมีความเข้าใจในเรื่องของ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ที่ตรงกันแล้ว ก็จะทำให้การออกแบบภายใต้กรอบของวัฒนธรรมกลายเป็นเรื่องของความสร้างสรรค์ร่วมสมัย และทำได้ง่ายโดยไม่ยากเย็น  น่านนคร  นครแห่งหลากเรื่อง ร้อยลายในผ้าน่าน

โดยศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชหออัตลักษณ์นครน่าน  วิทยาลัยชุมชนน่านหลากเรื่อง ร้อยลาย  ในผ้าน่าน

การต่อยอดโดยศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชหออัตลักษณ์นครน่าน  วิทยาลัยชุมชนน่าน
“หลากเรื่อง ร้อยลาย  ในผ้าน่าน”